อุตสาหกรรมยุคแรก
ประเทศไทยเริ่มมีการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมมาแต่สมัยโบราณ แต่การอุตสาหกรรมในขณะนั้นเป็นประเภทสินค้าหัตถกรรมและอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การทอผ้า การตีเหล็ก การจักสาน การแกะสลักไม้ การทำทองรูปพรรณ และการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เช่น โรงงานสุรา โรงงานน้ำตาลทรายแดง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ได้มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นโดยมีชาวต่างประเทศเข้ามาสร้างโรงงาน เช่น โรงกษาปณ์ โรงสีข้าว โรงเลื่อย และหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการพัฒนาด้านการอุตสาหกรรม โดยเอกชนได้เริ่มลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นอีกหลายประเภท เช่น โรงงานบุหรี่ โรงงานทำกระดาษ โรงงานทำน้ำอัดลม โรงงานทำสบู่ แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงทั่วโลกในปี พ.ศ. 2470 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยด้วย ทำให้ไม่มีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมในประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว
การก่อตั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม
(1) พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้ยึดแนวการบริหารประเทศ โดยคำนึงถึงความสมบูรณ์ของราษฎรทางด้านเศรษฐกิจจึงได้จัดทำแผนการดำเนินการทางเศรษฐกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอุตสาหกรรม กิจการบางอย่างที่เป็นสาธารณูปโภค รัฐจะเข้าควบคุมดูแลตลอดจนการร่วมงานกับบริษัทเอกชนดำเนินการในรูปของบริษัทสาธารณะ ส่วนที่ไม่เป็นสาธารณูปโภคจะให้ประชาชนดำเนินการธุรกิจอุตสาหกรรมได้
(2) พ.ศ. 2485 เพื่อเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรม รัฐบาลในสมัยนั้นจึงมีนโยบายที่จะจัดสร้างและดำเนินการอุตสาหกรรมและการพาณิชยกรรมภายในประเทศให้เป็นปึกแผ่น โดยแก้ไขพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยยุบกระทรวงการเศรษฐกิจและจัดตั้งกระทรวงใหม่ขึ้น 2 กระทรวงคือ
- กระทรวงพาณิชย์
- กระทรวงอุตสาหกรรม
(3) 5 พฤษภาคม 2485 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับการสถาปนาเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุตสาหกรรม โดยมีหน้าที่ดูแลโรงงานต่างๆที่เป็นของรัฐ ควบคุมดูแลการดำเนินงานของโรงงานเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงมาตรฐานแห่งคุณภาพและปริมาณ ตลอดจนรักษาระดับราคาของผลิตภัณฑ์ที่โรงงานต่างๆผลิตจำหน่ายแก่ประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เห็นว่ามีความจำเป็นแก่ประเทศชาติในยามสงคราม
กรมโรงงานอุตสาหกรรม
75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร. 66-(02)-202-4000 และ 3967 โทรสาร 66-(02)-354-3390

You must log in to post a comment.